การละเล่นเด็กไทย
การละเล่นเด็กไทย เป็นการละเล่นของเด็กตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ในปัจจุบันมักไม่ค่อยได้พบเห็นการ
ละเล่นประเภทเหล่านี้กันบ่อยนัก เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ม้าก้านกล้วย
- ดูบทความหลักที่ ขี่ม้าก้านกล้วย
เป็นการละเล่นที่สนุกสนาน เป็นที่ชื่นชอบของเด็กผู้ชาย วัสดุที่นำมาประดิษฐ์เป็นม้าคือ ก้านกล้วย ตัด-ดัดเลียนแบบหัวและคอม้า อาจทำสายบังเหียนให้ดูคล้ายของจริง เด็กๆ จะขึ้นไปขี่บนหลังม้าก้านกล้วย ทำท่าเหมือนขี่ม้าจริง อาจจะแข่งขันว่าใครวิ่งเร็วกว่ากัน หรืออาจขี่ม้าก้านกล้วยวิ่งไปรอบบริเวณลานกว้างๆก็ได้
กระโดดเชือก / กระโดดหนังยาง / กระโดดหนังสติ๊ก
การกระโดดเชือกมี 2 แบบ คือ การกระโดดเชือกเดี่ยว และการกระโดดเชือกหมู่ ใช้หนังสติ๊ก (หนังยาง) ถักร้อยจนเป็นเส้นยาว หรือ เชือกปอ ยาวพอที่จะตวัดพ้นศีรษะ ขมวดหัว - ท้ายเพื่อกันเชือกลุ่ย เวลาเล่นแกว่งเชือกด้วยมือทั้งสองข้าง แล้วกระโดขึ้นลงตรงกลาง การกระโดดเชือกหมู่จะใช้เชือกที่ยาวกว่า มีผู้เล่นสองคนจับหัวท้ายข้างละคน คอยแกว่ง (หรือไกว) เชือก สามารถกระโดดได้พร้อมกันหลายๆ คน
กระต่ายขาเดียว
- ดูบทความหลักที่ กระต่ายขาเดียว
การเล่นไล่จับชนิดหนึ่ง โดยคนที่เป็นกระต่าย ยืนด้วยขาข้างเดียว แล้วกระโดด เขย่ง เคลื่อนที่ไล่จับ (แตะถูกตัว) เด็กคนอื่น ภายในพื้นที่ที่กำหนด ถ้าใครโดนจับได้ก็ต้องออกจากการแข่งขันเพื่อรอรอบต่อไป
ตั้งเต
การกระโดดขาเดียวไปภายในช่องสี่เหลี่ยมที่ขีดขึ้นบนพื้น ขนาด 5 แถว คูณ 2 คอลัมน์ (รวม 10 ช่อง) ทีละช่อง
บอลลูน / บอลลูนโป้ง
เด็กแบ่งเป็นสองทีม เป็นทีมดักจับ กับทีมหนี โดยที่ทีมจับ แต่ละคนจะตั้งด่านวิ่งได้เฉพาะตามแนวเส้นตั้ง และเส้นนอน ของพื้นถนน ส่วนทีมหนี จะหลบหลีกวงแขนดักจับ วิ่งผ่านลงไปจนสุดด่าน แล้ววิ่งย้อนกลับขึ้นไปยังจุดเริ่มต้น ถ้าผ่านหมดทุกด่านก็ชนะ
โมราเรียกชื่อ
ใช้ลูกปิงปอง โยนขึ้นฟ้าสูงเหนือหัวราวหนึ่งช่วงตัว แล้วเอ่ยชื่อคนอื่น ให้เข้ามารับลูกปิงปอง ที่ตกกระเด้งขึ้นมาจากพื้น หนึ่งครั้งเท่านั้น หากวิ่งมารับไม่ทันในการกระดอนหนึ่งครั้ง ถือว่ารับไม่ได้ ให้จับลูกปิงปอง แล้วขว้างให้โดนเด็กคนอื่น โดนใคร คนนั้นก็เสียหนึ่งแต้ม ถ้าไม่โดนคนอื่น ตัวเองก็เสียหนึ่งแต้ม เมื่อครบ 3 หรือ 5 แต้ม (แล้วแต่กำหนด) ก็ถูกทำโทษ จากเด็กทั้งกลุ่ม เรียกว่า ถูกจับ"ขึ้นแท่น" ยึนหันหน้าเข้าผนัง หันหลังออกมา ขาชิดกัน ให้เด็กคนอื่น เอาลูกปิงปองขว้างใส่น่อง ซึ่งมักจะเจ็บแปล๊บๆ และเป็นดวงกลมๆ แดงๆ จบรอบล้างแต้ม เริ่มเล่นกันใหม่
ข้อควรระวังของผู้แพ้ที่ถูกจับ ขึ้นแท่น หากยืนขาไม่ชิดกัน จนลูกปิงปองที่ถูกปามา รอดหว่างขา หรือคาระหว่างขา จะถูกทำโทษเพิ่ม โดยมีคำฮิตว่า รอด 5 คา 10 หมายถึงว่า ถ้าปาลูกปิงปอง รอดขา จะได้รับรางวัลให้ปาเพิ่มอีก 5 ครั้ง ส่วน คา 10 ก็เช่นกัน ถ้าปาแล้วติดคาหว่างขา จะโดนเพิ่มอีก 10
ความสนุกของการละเล่นนี้อยู่ที่ เด็กทั้งกลุ่มจะฮือล้อมวงก่อนโยนลูกปิงปอง เพราะตัวเองอาจจะโดนเรียกชื่อต้องวิ่งมารับให้ทัน เมื่อเรียกชื่อแล้ว เด็กที่เหลือ ก็จะฮือหนีออกห่างลูกปิงปอง เพราะกลัวโดนปาถูก หากเด็กที่ถูกเรียกชื่อรับลูกปิงปองได้ในการกระเด้งหนึ่งครั้ง ทุกคนก็จะฮือกลับมาล้อมวงรอเรียกชื่อใหม่อีกครั้ง รวมถึงจำชื่อเพื่อนๆ ที่ร่วมเล่นได้ไปในตัว
โป้งแปะ / ซ่อนหา
การหา และการซ่อนตัว โดยมีเด็กหนึ่งคน หลับตานับเลข ให้เด็กคนอื่นๆ หนีไปหลบหาที่ซ่อน เมื่อนับเลขครบจำนวน หรือเด็กคนอื่นๆ ซ่อนเสร็จแล้ว ตะโกนบอกว่าเริ่มได้ เด็กที่มีหน้าที่"หา" จะเริ่มเดินหา ถ้ามองเห็นในสายตา ก็ยกนิ้วโป้ง พร้อมตะโกนว่า "โป้ง..." ตามด้วยชื่อของเด็กที่ถูกหาเจอ ไปเรื่อยๆ จนครบทุกคน โดยไม่ต้องแตะถูกตัว และเรียกชื่อให้ถูกต้อง แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ถ้าเด็กที่ซ่อนตัวคนอื่นๆ แอบย่องเข้ามาข้างหลัง แล้ว"แปะ" หรือแตะถูกตัว คนเดินหา ก็แพ้ เป็น (คนหา) ซ้ำอีก คนเดินหา จึงต้องมองรอบๆ ตัว เหลียวซ้ายแลขวา คอย"โป้ง"คนอื่น และไม่ให้ตัวเองถูก"แปะ" ถ้าคนเดินหา ร้อง"โป้ง"จับได้ครบทุกคน เด็กคนที่ถูก"โป้ง"คนแรก ต้องเปลี่ยนมา ปิดตา เป็นคนเดินหา ให้เด็กคนอื่นๆ ซ่อน
ในกรณีที่คนเดินหา ถูก"แปะ" หรือ"โป้ง"เรียกชื่อผิด เด็กคนอื่นๆ มักจะดีใจ และตะโกนบอกให้รู้ทั่วๆ กันว่า "ไข่แตก" (ราวกับว่า คนเดินหา ทำไข่ไก่ตกแตก) เปรียบเสมือนได้ชัยชนะ และมีการทำโทษ โดยให้ผู้ที่ทำไข่แตก เอาสองมือประสานถักสิบนิ้วเข้าด้วยกัน หงายมือเหมือนแห เด็กคนอื่น ก็จะกำสองมือเหมือนฆ้อน แล้วตีลงบนแหนั้น ถ้ามือที่ถักประสานสิบนิ้วไว้หลุดออกจากกัน ก็คือแพ้ซ้ำสอง แต่ถ้าทนเจ็บมือไม่หลุดจากกันก็รอดพ้นการทำโทษอื่น
งูกินหาง
การละเล่นนี้ต้องมีพ่องูแม่ งู ส่วนผู้เล่นอื่นๆ เป็นลูกงู เอามือจับเอวแม่งูเป็นแถวยาว เริ่มเล่นด้วยการสนทนาระหว่างแม่งูกับพ่องู เมื่อสนทนาจบพ่องูจะพยายามไล่จับลูกงู ถ้าแตะถูกลูกงูคนใด คนนั้นจะต้องออกมาจากแถว แม่งูจะต้องปกป้องลูกงู การหนีของลูกงูต้องไม่ให้ขาดตอนจากกัน ต้องเลื้อยให้สวยงามเป็นกระบวนเหมือนงู
เล่นห่วง
"ห่วง" เป็นอุปกรณ์การเล่นที่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ ซึ่งเหลาจนไม่มีคมเหลืออยู่ นำปลายทั้งสองข้างมาผูกเป็นวงกลม เล่นโดยการนำเข้ามาร่อนที่เอว เช่นเดียวกับการเล่นห่วงในปัจจุบัน นิยมเล่นกันเป็นกลุ่ม การละเล่นนี้จะทำให้เด็กๆ สนุกกับการออกกำลังกาย และได้พบปะเพื่อนฝูง
ขี่ม้าส่งเมือง
แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย แล้วเลือกผู้เล่น 1 คน มาเล่นเป็นเจ้าเมือง ฝ่ายที่เริ่มก่อนจะกระซิบความลับให้เจ้าเมืองทราบ (อาจจะเป็นชื่อคนหรือเรื่องที่ตกลงกันไว้) ถ้าฝ่ายตรงข้ามทายถูกเจ้าเมืองจะบอกว่า "โป้ง" ฝ่ายที่ทายถูกก็จะชนะ และได้ฝ่ายแรกเป็นเชลย ถ้าทายผิดก็จะต้องตกเป็นเชลย ฝ่ายใดตกเป็นเชลยหมดก่อน ต้องเป็นม้าให้อีกฝ่ายหนึ่งขี่หลังไปส่งเมือง
กาฟักไข่
บางแห่งเรียกกว่า "ซิงไข่เต่า" ผู้เล่นเป็นอีกาหรือเต่าจะเข้าไปอยู่ในวงกลมที่ขีดไว้ คนอื่นๆอยู่นอกวงกลม พยายามแย่งเอาก้อนหินที่สมมุติว่าเป็นไข่มาให้ได้ อีกาหรือเต่าจะปัดป่ายแขนขาไปมา ถ้าโดนผู้ใดผู้นั้นจะต้องมาเล่นเป็นอีกาแทนทันที แต่ถ้าไข่ถูกแย่งหมด อีกาหรือเต่าจะต้องไปตามหาไข่ที่ผู้อื่นซ่อนไว้ หากหาไม่พบจะถูกจูงหูไปหาไข่ที่ซ่อนไว้ เป็นการลงโทษ
- โทกเทก
อาจเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เป็นการละเล่นที่ใช้อุปกรณ์ที่ทำมาจากไม้ไผ่ ประกอบด้วยท่อนไม้สั้นซึ่งเป็นที่เหยียบสำหรับยืน มีผ้าพันเพื่อไม่ให้เจ็บง่ามเท้า ไม้ท่อนยาวสำหรับใช้เป็นตัวยืนจับ เวลาเล่นต้องพยายามทรงตัวเดินจะทำให้รู้สึกว่าขายาวขึ้น เด็กๆ อาจจะแข่งขันกันว่าใครสามารถเดินได้เร็วกว่ากัน
มอญซ่อนผ้า
ทุกคนนั่งล้อมวงช่วยกันร้องว่า "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ" มอญจะถ์อผ้าเดินรอบวงแล้วแอบหย่อนผ้า ไว้ข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง หากผู้เล่นคนนั้นรู้ตัวก่อนก็จะหยิบผ้ามาไล่ตีมอญ แล้ววิ่งมานั่งที่เดิม แต่หากว่ามอญเดินกลับมาอีกรอบหนึ่ง แล้วผู้เล่นคนนั้นยังไม่รู้ตัว ก็จะถูกมอญเอาผ้าตีหลัง และต้องเล่นเป็นมอญแทน
หมาไล่ห่าน
เลือกผู้เล่นคนหนึ่งเป็นหมาวิ่งไล่ อีกคนหนึ่งเป็นห่านวิ่ง หนี ผู้เล่นนอกนั้นจับมือล้อมกันเป็นวง เมื่อห่านจวนตัวก็จะวิ่งลอดเข้าไปในวงล้อม ผู้ที่เล่นเป็นประตูต้องพยายาม กันไม่ให้หมาเข้าไปในหรือนอกวงทันห่าน กติกามีอยู่ว่าช่วงใดที่ผู้เล่นเป็นประตูพากันนั่งลง ถทอเป็นการปิดประตู หากห่านใดไล่ทันและโดนจับได้ก็ถือว่าแพ้
ลิงชิงหลัก
เลือกผู้เล่นคนหนึ่งสมมุติว่าเป็นลิงไม่ มีหลัก ยืนอยู่กลางวง ผู้เล่นที่เหลือยืนเกาะหลักของตน (ใช้คนสมมุติเป็นหลักก็ได้) อยู่รอบวง กติกาคือผู้เล่นเป็นลิงมีหลักจะต้องสลับหลักเรื่อยๆ ลิงตัวที่ไม่มีหลักก็จะต้องพยายามแย่งหลักของตัวอื่นให้ได้ ถ้าวิ่งเร็วกว่าก็จะได้หลักไปครอง ลิงที่ช้ากว่าก็จะกลายเป็นลิงชิงหลัก คอยแย่งหลักคนอื่นต่อไป
ลูกช่วง
ใช้ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่หรือเศษหญ้าแห้งมาผูกปมเป็นลูกช่วง แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย เท่ากัน เริ่มเล่นด้วยการโยนลูกช่วงให้อีกฝ่ายหนึ่งรับ ถ้าฝ่ายตรงข้ามรับได้ก็จะต้องเอาลูกช่วงนั้นปากลับ มายังฝ่ายที่โยนมา ถ้าปาถูกตัวผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายที่โยนมาก็จะได้คะแนน ความสนุกจะอยู่ที่ลีลาในการหลอกล่อ ชิงไหวชิงพริบ ของการหลบและการปาลูกช่วง ซึ่งอาจจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสับสน
โพงพาง
ผู้ที่เล่นเป็น "ปลา" จะถูกผูกตาแล้วหมุน 3 รอบ ผู้เล่นอีกคนอื่นล้อมวงร้องว่า "โพงพางเอ๋ย สำเภาเข้าลอด ปูปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง" จบแล้วถามว่า "ปลาเป็นหรือปลาตาย?" ถ้าปลาตอบว่า "ปลาตาย" แปลว่าห้ามขยับ แต่ถ้าตอบว่า "ปลาเป็น" ก็ขยับได้ หากผู้เล่นเป็นปลา แตะถูกตัวคนใดคนหนึ่งแล้วทายชื่อถูก ผู้นั้นจะต้องกลายเป็นปลาแทน ถ้าไม่ถูกก็ให้ทายใหม่
โพงพาง คือ ชื่อของกับดักปลาชนิดหนึ่ง
รีรีข้าวสาร
ให้ผู้เล่นสองคน ใช้สองมือจับกัน แล้วยกโค้งขึ้นเสมือนซุ้มประตู ผู้เล่นที่เหลือเอามือจับเอวเดินเป็นแถวลอดประตูนั้นไป พร้อมกับร้องว่า "รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก (เด็กน้อยตาเหลือก) เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน เก็บเบี้ยใต้ถุน ร้าน พานเอาคนข้างหลังไว้" เมื่อถึงคำสุดท้าย ซุ้มประตูก็จะลดมือลง กักตัวผู้เล่นที่เดินผ่านมา ผู้เล่นที่ถูกกักตัวจะถูกคัดออก หรืออาจจะถูกลงโทษด้วยการให้รำหรือทำท่าทางอะไรก็ได้
ตี่จับ
แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย มีเส้นแดนตรงกลาง ตัวแทนฝ่ายที่รุกจะต้องส่งเสียง "ตี่" ไม่ให้ขาดเสียง และจะต้องพยายามแตะตัวคนใดคนหนึ่ง ของฝ่ายรับมาเป็นเชลย ส่วนฝ่ายรับหากเห็นว่าคนที่รุกมากำลังจะหมดแรงหายใจ จะถอยกลับก็จะพยายามจับตัวไว้ให้ได้ หากคนที่รุกเข้ามาขาดเสียง "ตี่" ก่อนกลับเข้าแดนของตน ก็จะต้องตกเป็นเชลยของอีกฝ่าย
ชักเย่อ
ใช้เชือกเส้นใหญ่ยาวพอประมาณกับจำนวนผู้เล่น แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย มีเส้นแดนตรงกลาง เมื่อสัญญาณเริ่ม ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มออกแรงดึงเชือก โดยพยายามดึงฝ่ายตรงข้ามให้เข้ามาในแดนของตน หากผู้แข่งขันเป็นชายหนึ่งฝ่ายและหญิงฝ่ายหนึ่ง อาจจะกำหนดให้ฝ่ายหญิงมีจำนวนมากกว่าชายก็ได้ เป็นการละเล่นไทยสอนให้รู้จักความสามัคคีและเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย
หมากเก็บ
จำนวนผู้เล่น : จำนวนผู้เล่น 2 – 4 คน วิธีเล่น :
- ใช้ก้อนกรวดที่มีลักษณะกลมๆ 5 ก้อน เสี่ยงทายว่าใครจะเล่นก่อน โดยวิธีขึ้นร้าน คือ ถือหมาก ทั้งห้าเม็ดไว้แล้วโยนพลิกหงายหลังมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับอีกที ใครเหลือหินอยู่ในหินอยู่ในมือมากที่สุด คนนั้นเล่นก่อน มีทั้งหมด 5 หมาก
- หมากที่ 1 ทอดหมากให้ห่างๆ กัน เลือกลูกนำไว้ 1 เม็ด ควรใช้เม็ดกรวดที่ห่างที่สุด โยนเม็ดนำขึ้น แล้วเก็บทีละเม็ดพร้อมกับรับลูกนำที่หล่นลงมาให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า “ตาย” ขณะที่หยิบเม็ดที่ทอดนั้น ถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นถือว่า ตาย
- หมากที่ 2 เก็บทีละ 2 เม็ด
- หมากที่ 3 เก็บทีละ 3 เม็ด
- หมากที่ 4 ใช้โปะ ไม่ทอด คือ ถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้
“ขี้นร้าน” ได้กี่เม็ดเป็นแต้มของคนนั้น ถ้าขึ้นร้านเม็ดหล่นหมด ใช้หลังมือ รับไม่ได้ ถือว่า “ตาย” ไม่ได้แต้ม คนอื่นเล่นต่อไป ถ้าใครตายหมากไหนก็เริ่มต้นหมากนั้น ส่วนมาก กำหนดแต้ม 50-100 แต้ม เมื่อแต้มใกล้จะครบ เวลาขึ้นร้านต้องคอยระวังไม่ให้เกินแต้มที่กำหนด ถ้าเกิน ไปเท่าไร หมายถึงว่าต้องเริ่มต้นใหม่โดยได้แต้มที่เกินไปนั้น วิธีเล่นหมากเก็บนี้มีพลิกแพลงหลายอย่าง เช่น โยนลูกนำขึ้นเก็บทีละเม็ด เมื่อเก็บได้เม็ดหนึ่งก็โยน ขึ้นพร้อมกับลูกนำ 2 – 3 – 4 เม็ด ตามลำดับ หมาก 2 – 3 -4 ก็เล่นเหมือนกัน โยนขึ้นทั้งหมด เรียกว่า “หมากพวง” ถ้าโยนลูกนำขึ้นเล่นหมาก 1- 2 -3 -4 แต่พลิกข้างมือขึ้นรับลูกนำให้เข้าในมือระหว่างนิ้ว โป้งและนิ้วชี้ โดยทำเป็นรูปวงกลมเตรียมไว้เรียก “หมากจุ๊บ” ถ้าใช้มือซ้ายป้อง และเขี่ยหมากให้เข้าใน มือนั้นทีละลูกในหมาก 1 -2 -3 และ 4 ตามลำดับ เรียกว่า “อีกาเข้ารัง” ถ้าเขี่ยไม่เข้าจะตาย ถ้าใช้นิ้ว กลางกับนิ้วหัวแม่มือยันพื้น นิ้วอื่นปล่อยทำเป็นรูปซุ้มประตู เขี่ยหมากออกเรียกว่า “อีกาออกรัง” ถ้าใช้ นิ้วกลางกับนิ้วหัวแม่มือ ขดเป็นวงกลม นิ้วชี้ชั้ตรงนิ้ว นอกนั้นยันพื้นเป็นรูปรูปู เรียกว่า “รูปู” เมื่อจบ เกมการเล่นแล้วจะมีการกำทาย ผู้ชนะจะทายผู้แพ้ ว่ามีกี่เม็ด ถ้าทายผิดจะต้องถูกเขกเข่า กี่ทีตามที่ตนเอง ทายจนเหลือเม็ดสุดท้าย คนทายจะถือเม็ดไว้ในมือ แล้ววนพร้อมกับร้องเพลงประกอบ เมื่อร้องจบเอา มือหนึ่งกำไว้ งอข้อศอกขึ้นต้องบนมือที่กำอีกข้างหนึ่ง
การละเล่นไทย ตอนที่ 1
การละเล่นไทย ตอนที่ 2
สารคดีการละเล่นไทย
คุณค่าการละเล่นไทย
งูกินหาง
อ้างอิง